การศึกษา
- พ.ศ. 2458 สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมัธยมโฆษิตสโมสร
- พ.ศ. 2464 สอบไล่ได้ชั้น 5 ภาษาอังกฤษ (สูงสุด) จากโรงเรียนภาษาอังกฤษของสามัคยาจารย์สมาคม
- พ.ศ. 2466 สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตไทย จากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เป็นเนติบัณฑิตไทยคนสุดท้ายที่ได้รับพระราชทานครุยเนติบัณฑิตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พ.ศ. 2469 สอบไล่ได้ชั้น 6 ภาษาอังกฤษ (อย่างเก่า) จากโรงเรียนอัสสัมชัญ
- พ.ศ. 2473 สอบไล่ได้ชั้นสูงสุด จากโรงเรียนภาษาสำหรับชาวต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน
- พ.ศ. 2475 สอบไล่ได้ภาษาลาตินชั้นเล็ก จากโรงเรียนภาษาสำหรับชาวต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน
- พ.ศ. 2479 ปริญญาเอกกฎหมายเยอรมัน ชั้นได้รับความชมเชยอย่างมาก (MAGNA CUM LAUDE) จากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน (Humboldt-Universität zu Berlin) โดยได้ทำวิทยานิพนธ์ด้านกฎหมายขัดกัน ในหัวข้อ “Die Einteilung der Sachen in bewegliche und unbewegliche im internationalen Privatrecht” ซึ่งมีอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ คือ ศาสตราจารย์ ดร.Martin Wolff ปรมาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและกฎหมายลักษณะทรัพย์
ประวัติการรับราชการ
- เริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่ง พลตำรวจกองฟังคดี
- เป็นข้าราชการวิสามัญชั้นโท สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ภายหลังจากจบการศึกษาจากประเทศเยอรมนี
- ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรการกฤษฎีกา มเมื่อ พ.ศ. 2496 และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมการร่างกฎหมายประจำจนกระทั่งเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ. 2511
นอกจากนี้ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. หยุด แสงอุทัย ยังได้รับราชการพิเศษเป็นกรรมการในส่วนราชการต่างๆ และมีประวัติการทำงานนอกราชการเฉพาะที่สำคัญ ดังนี้
- เป็นกรรมการป้องกันภัยทางอากาศแห่งราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. 2487
- เป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นกรรมการปรับปรุงกิจการศาลเมื่อ พ.ศ. 2497
- ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2519
- เป็นราชบัณฑิตในสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ประเภทสังคมศาสตร์ สาขานิติศาสตร์ (รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและแผนกคดีอาญา) เมื่อ พ.ศ. 2516
- เป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขานิติศาสตร์ ที่ปรึกษากฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารออมสิน เมื่อ พ.ศ. 2512
ประวัติในทางวิชาการ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. หยุด แสงอุทัย เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการร่าง และตรวจชำระสะสางหรือปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นๆ ของไทยเป็นจำนวนมาก ท่านจึงได้รับการยอมรับอย่างมากในทางวิชาการ ให้เป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในลักษณะวิชาต่างๆ แทบทุกแขนง และที่มีชื่อเสียงมาก คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา ซึ่งท่านได้รับตำแหน่งและเกียรติคุณทางวิชาการที่สำคัญ ดังนี้
- ศาสตราจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศาสตราจารย์พิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ได้รับพระราชทานปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ได้รับพระราชทานปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. หยุด แสงอุทัย ได้แต่งตำราวิชากฎหมายเอาไว้ถึง 32 เล่ม บทความในทางกฎหมายประมาณ 50 บทความ และบันทึกท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาอีกประมาณ 200 เรื่อง ซึ่งหลายเล่มได้รับการยกย่องให้เป็นมาตรฐานทางวิชาการและใช้ในการเรียนการสอนจนถึงปัจจุบัน